B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / ประเมินระดับความเสี่ยงของตัวเอง ป้องกันโควิด-19
ประเมินระดับความเสี่ยงของตัวเอง ป้องกันโควิด-19
28 พฤษภาคม 2021

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในวงกว้าง ในทุกพื้นที่ยังคงต้องเฝ้าระวังต่อการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งมีทั้งผู้ที่ติดเชื้อและผู้มีความเสี่ยงในระดับต่างๆ ทั้งเสี่ยงสูง เสี่ยงปานกลางและเสี่ยงต่ำ หรืออยู่ระหว่างรอผลการตรวจ

โดยการประเมินความเสี่ยงแบ่งได้เป็น 4 ระดับ คือ 

  1. ผู้ที่ติดเชื้อ หมายถึง เป็นผู้ที่ได้รับเชื้อจากแหล่งต่างๆ และได้รับการตรวจและวินิจฉัยแล้วว่าเป็นผู้ติดเชื้อ ทั้งที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการ จำเป็นต้องมีการแยกกักตัว (Isolation) โดยกลุ่มนี้แพทย์จะทำการรักษาและพิจารณาให้มีการแยกกักตัว ดังนี้
  • แยกกักในสถานพยาบาล
  • โรงพยาบาลสนามที่จัดตั้งขึ้น
  • แยกกักในสถานที่อื่นที่กำหนด เช่น โรงแรมที่กำหนดและมีระบบจัดการรองรับเพื่อป้องกันโควิด
  • แยกกักตัว ณ สถานที่พัก ในระหว่างรอประสานเตียงว่างในสถานที่ที่กล่าวมาข้างต้น ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ

 

  1. ผู้มีความเสี่ยงสูง หมายถึง เป็นผู้ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อ ได้พบกับผู้ติดเชื้อในพื้นที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท อยู่ห่างจากผู้ติดเชื้อไม่เกิน 1 เมตร นานกว่า 15 นาที โดยไม่มีการป้องกัน พูดคุยในระยะ 1 เมตรนานกว่า 5 นาที ไอ จามใส่กันโดยไม่มีการป้องกัน กลุ่มนี้ต้องกักกันตัว (Quarantine) และตรวจหาเชื้อระหว่างรอผลการตรวจ หรือตรวจครั้งแรกแล้วยังไม่พบเชื้อยังต้องกักกันตัวจนครบ 14 วัน ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด 

 

  1. ผู้มีความเสี่ยงต่ำ เป็นผู้ที่สัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง กลุ่มนี้ให้คุมไว้สังเกตอาการ (Close Observation) 14 วัน หลีกเลี่ยงที่ชุมชน แยกการกินอาหาร สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ ตามคำแนะนำ

 

  1.  ผู้มีความเสี่ยงต่ำมากหรือไม่มีความเสี่ยง เป็นผู้สัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ กลุ่มนี้ไม่ต้องกักตัว สามารถใช้ชีวิตตามปกติ แต่เน้นปฏิบัติตามมาตรการสำคัญ คือ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากตลอดเวลา ล้างมือบ่อย ๆ  ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และสังเกตุอาการ

 

การปฏิบัติสำหรับผู้ติดเชื้อและถูกสั่งให้แยกกักตัว ณ สถานที่พัก ระหว่างรอเตียงสถานพยาบาลว่าง หรือระหว่างรอการเดินทางไปสถานพยาบาล หรือสำหรับผู้ที่ได้ประเมินความเสี่ยงเป็นผู้มีความเสี่ยง อยู่ในข่ายผู้มีความเสี่ยงสูงที่ต้องมีการกักกันตัว สามารถทำได้ดังนี้

  1. หยุดงาน หยุดเรียน ไม่ออกไปนอกบ้านหรือที่พักอาศัย ไม่เดินทางไปที่ชุมชนหรือที่สาธารณะอย่างน้อย 14 วัน นับแต่วันที่พบว่าติดเชื้อ หรือเดินทางจากพื้นที่ระบาด หรือวันสุดท้ายที่สัมผัสผู้ป่วย
  2. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดบุคคลอื่น โดยเฉพาะในห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศ หากจำเป็น ต้องสวมหน้ากากอนามัย และอยู่ห่างกันไม่น้อยกว่า 2 เมตร ใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที ไม่คลุกคลีกับเด็กและผู้สูงอายุในบ้านโดยเด็ดขาด
  3. สังเกตอาการตัวเองและวัดไข้ทุกวัน หากมีไข้สูงกว่า 37.5 เซลเซียส ร่วมกับอาการผิดปกติทางผิวหนัง ไอ หรืออาการทางระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ให้รีบไปพบแพทย์
  4. ในแต่ละวันให้รวบรวมขยะ หน้ากากอนามัยไว้ในถุง ก่อนทิ้งให้ใส่น้ำยาฟอกขาว 2 ฝา ก่อนใส่ถุงอีกชั้น ปิดปากถุงให้สนิท
  5. กินอาหารที่มีประโยชน์ ปรุงสุก สะอาด พักผ่อนให้เพียงพอ
  6. หากิจกรรมผ่อนคลายเพื่อลดภาวะเครียด

 

กรณีพักคนเดียวสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทั้งที่พัก ของใช้ส่วนตัว แต่งดให้ผู้อื่นเข้ามาในที่พักในช่วงแยกกักตัว หรือกักกันตัว แต่หากพักอาศัยร่วมกับผู้อื่นให้แยกห้องนอน ห้องน้ำให้ชัดเจน ให้แยกห่างจากผู้สูงอายุ ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังให้มากที่สุด พร้อมทั้งแยกอุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัว แยกการกินอาหารและการใช้ห้องน้ำออกจากผู้อื่น แต่หากไม่สามารถแยกห้องได้ ให้ผู้อื่นใช้ห้องน้ำก่อน ส่วนผู้แยกกักตัวหรือกักกันตัวใช้เป็นคนสุดท้าย พร้อมทำความสะอาดให้เรียบร้อย เปิดประตูหน้าต่าง เพื่อให้มีการระบายอากาศสู่ภายนอกเป็นระยะ และปิดประตูด้านที่เชื่อมต่อกับคนอื่นภายในบ้านจะเปิดได้เมื่อจำเป็นเท่านั้น

 

ทั้งนี้ สำหรับผู้มีความเสี่ยงต่ำ ให้สังเกตอาการตัวเอง 14 วัน หลีกเลี่ยงที่ชุมชน แยกกินอาหาร สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำมากหรือไม่มีความเสี่ยง ไม่ต้องกักตัวและสามารถใช้ชีวิตตามปกติ แต่เน้นการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือเช่นเดียวกัน เพื่อความปลอดภัย

 

ที่มา : กรมอนามัย

ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik

บทความสุขภาพ
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.