B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / โรคยอดฮิต ออฟฟิศซินโดรม
โรคยอดฮิต ออฟฟิศซินโดรม
11 พฤศจิกายน 2020

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)  คือ อะไร

ออฟฟิศซินโดรม หรือกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial pain syndrome) คือ อาการปวดจากการใช้งานของกล้ามเนื้อมัดเดิมๆซ้ำๆ เป็นระยะเวลานานต่อเนื่องกันหลายชั่วโมงต่อวัน หรืออยู่ในท่าการทำงานที่ไม่เหมาะสมต่อเนื่องกันนาน ๆ มักพบได้บ่อยในคนทำงานออฟฟิศ ตัวอย่างเช่น การนั่งทำงานต่อเนื่องกับคอมพิวเตอร์นานจนเกินไปโดยไม่ได้ปรับเปลี่ยนท่าทางหรืออริยาบท การนั่ง หรือยืนหลังค่อม ไหล่ห่อ ก้มคอมากเกินไป เป็นต้น จนทำให้เกิดอาการปวดสะสมและกลายเป็นปวดเรื้อรังในที่สุด ซึ่งอาจพบร่วมกับอาการชาบริเวณแขน มือ และปลายนิ้ว เนื่องอาจเกิดจากการที่เส้นประสาทส่วนปลายในแต่ละตำแหน่งถูกกดทับอย่างต่อเนื่อง และอาจส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมาไม่ว่าจะเป็นโรคเกี่ยวกับระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบนัยน์ตา ระบบการย่อยอาหาร และการมองเห็นได้อีกด้วย  ดังนั้น การไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และการดูแลสุขภาพของตนเอง จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดออฟฟิศซินโดรมได้

 

อาการของออฟฟิศซินโดรม

  1. ปวดกล้ามเนื้อบริเวณส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น คอ, บ่า, ไหล่ สะบัก และ หลัง ส่วนใหญ่มักพบอาการปวดเป็นบริเวณกว้าง หรือบางครั้งไม่สามารถบอกตำแหน่งที่มีอาการปวดได้อย่างชัดเจน โดยผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการปวดร้าวไปยังตำแหน่งต่างๆของร่างกายได้ อาการปวดอาจมีน้อยไปหามาก ซึ่งมักจะทำให้เกิดความรำคาญต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือในขณะปฏิบัติงาน
  2. อาการทางระบบประสาทที่ถูกกดทับ เช่น อาการชาบริเวณแขนและมือ รวมถึงอาการอ่อนแรง หากมีการกดทับเส้นประสาทนานจนเกินไป

 

สาเหตุของ “ออฟฟิศซินโดรม”

เกิดจากการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งซ้ำๆ เป็นเวลานาน หรืออยู่ในท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสมต่อเนื่องแล้วยังอาจเกิดจากปัจจัยอื่นได้ เช่น

  • สภาพแวดล้อมหรืออุปกรณ์ในการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่นโต๊ะหรือเก้าอี้ที่ใช้ทำงานสูงหรือต่ำจนเกินไป ไม่เหมาะกับโครงสร้างของร่างกาย เป็นต้น
  • สภาพร่างกายอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่ออาการเจ็บป่วย เช่น ความเครียดจากการทำงาน การพักผ่อนที่ไม่เพียง การได้รับสารอาหารไม่ครบ หรือทานอาหารไม่ตรงเวลา เป็นต้น

 

โรคหรือภาวะแทรกซ้อนของออฟฟิศซินโดรม

โรคนี้จะส่งผลให้เกิดอาการของโรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อตามมาได้ เช่น

  • เอ็นข้อมืออักเสบกดทับเส้นประสาท มักมีอาการเริ่มต้น คือ ชานิ้วมือ โดยเฉพาะนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง ซึ่งมักเกิดขึ้นบ่อยในผู้หญิงวัยทำงาน โดยอาการชาจะค่อย ๆ เป็นบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนมากมักจะมีอาการชาในตอนกลางคืนมากกว่าตอนกลางวัน และจะชาเกือบตลอดเวลาในเวลาต่อมา
  • นิ้วล็อค เป็นอาการที่เกิดจากการอักเสบของปลอกเอ็นนิ้วมือ ทำให้มีการหนาขึ้นส่งผลให้ไม่สามารถยืด หรือหดนิ้วได้ตามปกติ โดยนิ้วที่พบว่ามักมีอาการดังกล่าว คือ นิ้วโป้ง นิ้วกลาง และนิ้วนาง หรืออาจจะเกิดขึ้นได้ทุกนิ้ว และอาจเกิดขึ้นได้ทั้งนิ้วมือทั้งสองข้างอีกด้วย
  • โรคเอ็นอักเสบที่ข้อมือ คือ โรคที่เกิดจากการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นและเส้นเอ็นบริเวณข้อมือทางฝั่งนิ้วโป้งทำให้เกิดการกดทับของเส้นเอ็นภายใน โดยส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 8 เท่า

 

การรักษาอาการออฟฟิศซินโดรม

  1. การรับประทานยา เพื่อช่วยบรรเทาอาการ เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้อักเสบ เป็นต้น หากอาการไม่ดีขึ้นแนะนำให้พบแพทย์ เพื่อทำการรักษาและกายภาพบำบัดต่อไป
  2. การทำกายภาพบำบัด เป็นการรักษาอาการออฟฟิศซินโดรมที่เกี่ยวข้องกับระบบกล้ามเนื้อและกระดูก และยังเป็นการประเมินโครงสร้างร่างกาย และการปรับร่างกายให้เกิดความสมดุล รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงของโรคอื่น ๆ ที่อาจเกิดตามมาได้ในระยะยาว
  3. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เริ่มจากการนั่งให้ถูกวิธีโดยการนั่งตัวตรง พยายามอย่าก้มคอ ปรับระดับเก้าอี้ให้พอดีกับโต๊ะ และควรพักสายตาหลังจากทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน  เช่น การมองออกไปไกล ๆ เป็นต้น

 

การป้องกันเพื่อลดปัญหาออฟฟิศซินโดรม

โรคออฟฟิศซินโดรมเป็นโรคที่เราสามารถป้องกันและแก้ไขได้ด้วยการปรับพฤติกรรมในที่ทำงาน และไม่ควรปล่อยปละละเลยหากเกิดสัญญาณเตือนของอาการ เพราะการดูแลสุขภาพของตนเองตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดออฟฟิศซินโดรมได้  โดยการป้องกันแต่ละวิธีจะมีส่วนช่วยให้ท่านมีความสุขกับการทำงานที่ปราศจากอาการปวด โดยการป้องกันนี้เป็นตัวอย่างที่จะแนะนำเพื่อลดการเกิดปัญหาออฟฟิศซินโดรม

  • การปรับเปลี่ยนท่าทางอริยาบทเพื่อให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน
  • ไม่ทำงานในท่าทางอริยาบทเดิมนานเกิน 50 นาที หากมีความจำเป็นต้องทำต่อเนื่องควรหยุดพักสัก 10-15 นาที
  • ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในการทำงานที่จำเป็นเพื่อลดการบาดเจ็บในระหว่างปฏิบัติงาน
  • เตรียมร่างกายให้พร้อม เช่น การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณที่ต้องใช้งานหนัก, การยืดกล้ามเนื้อก่อน ระหว่าง และหลังจากการทำงานในแต่ละวัน

 

 ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik

บทความสุขภาพ
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.