B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / “Long COVID” อาการหลังหายจากโควิด-19
“Long COVID” อาการหลังหายจากโควิด-19
23 พฤษภาคม 2022

ภาวะ “โควิดยาว” (Long COVID) หรือ “กลุ่มอาการภายหลังเป็นโควิด-19” (Post-COVID Syndrome) คือ ภาวะที่มีอาการหรือกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นหลังหายจากการติดเชื้อโควิด-19 (ตรวจไม่พบเชื้อโควิดแล้ว) และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป และอาจคงอยู่เป็นเวลาหลายๆ เดือน (อาจเป็นปีหรือตลอดไป!)

       อาการหรือกลุ่มอาการเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแต่ในผู้ป่วย “โควิด-19” ที่เจ็บหนักหรือต้องเข้าไอซียู (ICU, intensive care unit) เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยด้วย

 

อาการ/กลุ่มอาการที่พบบ่อย/มากที่สุด เช่น

  • อาการเมื่อยล้า
  • เหนื่อยง่าย หายใจเร็ว หอบเหนื่อย
  • เจ็บหน้าอก
  • ใจสั่น (หัวใจเต้นเร็ว/แรง/ไม่สม่ำเสมอ)
  • ปวดศีรษะ
  • สมองล้า
  • ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกล้ามเนื้อ (อาจถึงขั้นเดินไม่ได้ ทำงานไม่ได้)
  • นอนไม่หลับ เป็นต้น

 

อาการ/กลุ่มอาการที่พบไม่บ่อยมากนัก เช่น

  • การไม่รับรู้กลิ่น/รส
  • การรู้สึกหดหู่
  • การไม่มีสมาธิ
  • การไม่สามารถทำงานที่เคยทำได้
  • การไม่สามารถสื่อสาร/ปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นได้เหมือนแต่ก่อน
  • การรู้สึกว่าทุกส่วน/ทุกระบบของร่างกายมีปัญหาไปหมด เป็นต้น

 

       สำหรับผู้ป่วย “โควิด-19” ที่เข้าไอซียู (ใส่ท่อช่วยหายใจ ฯลฯ) ย่อมต้องผ่านความทุกข์ทรมานแสนสาหัส อาการ“โควิดยาว” นอกจากจะเกิดจากเนื้อเยื่อของร่างกาย (เช่น ปอด ตับ ไต) บางส่วนที่ถูกทำลายหรือชอกช้ำจากเชื้อไวรัสแล้ว ยังอาจเกิดจาก “ภาวะเครียดหลังบาดเจ็บ” (Post-Traumatic Stress Disorder, PTSD) อีกด้วย

       แต่สำหรับผู้ป่วย “โควิด-19” ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย แล้วเกิดภาวะ “โควิดยาว” อาจเกิดจากความวิตกกังวล ความเครียด ความกลัว หรือ ความผิดปกติทางกายภาพของเนื้อเยื่อในสมองหรืออวัยวะอื่นๆ โดยเศษซากของเชื้อ “โควิด-19” ที่ยังไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยวิธีตรวจในปัจจุบัน

 

การรักษา

       เนื่องจากอาการของภาวะ “โควิดยาว” มีมากมายหลากหลายต่างๆ กัน ถ้ามีอาการน้อย ไม่รบกวนการดำเนินชีวิตตามปกติ และอาการลดลงเรื่อยๆ ตามกาลเวลา ก็ไม่ต้องการการรักษาใดๆ นอกจากการดูแลสุขภาพทั้งกายและใจของตนให้แข็งแรงขึ้นๆ แล้วอาการทั้งหมดจะหายเองในเวลาไม่นาน แต่ถ้ามีอาการจนรบกวนการดำเนินชีวิตตามปกติ หรือไม่แน่ใจว่าอาการนั้นๆ เป็นอาการของภาวะ “โควิดยาว” หรือไม่ ก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจดูว่าอาการนั้นๆ ไม่ได้เกิดจากภาวะอื่นหรือโรคอื่นที่มีการรักษาโดยเฉพาะ

 

การรักษาภาวะ “โควิดยาว” อาจแบ่งเป็น

  1. การรักษาตามอาการ เช่น ถ้าปวดกล้ามเนื้อมาก อาจใช้ยาแก้ปวดและยาคลายกล้ามเนื้อ ถ้าหอบเหนื่อยอาจต้องใช้ออกซิเจน ยาขยายหลอดลม และอื่นๆ ตามคำแนะนำของแพทย์ ถ้าวิตกกังวล/นอนไม่หลับ อาจต้องใช้ยาคลายเครียดและ/หรือยานอนหลับ ร่วมกับการรักษาทางจิตใจตามคำแนะนำของแพทย์ เป็นต้น

 

  1. การรักษาในขั้นทดลอง ผู้ป่วย “โควิดยาว” จำนวนหนึ่งดีขึ้นจากการได้รับวัคซีนต้านเชื้อ “โควิด-19” ทำให้นักวิชาการจำนวนหนึ่งคิดว่า อาจมีเศษซากของเชื้อ “โควิด-19” หลงเหลืออยู่ในร่างกายที่ยังก่อให้เกิดปฏิกิริยาของร่างกาย เพื่อต่อสู้กับเศษซากเหล่านั้น เมื่อได้รับวัคซีนอาการจึงดีขึ้น ซึ่งต้องทำการศึกษาวิจัยต่อไป

 

  1. การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ การออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ การบรรเทาความเครียดด้วยวิธีต่างๆ การนอนหลับ/พักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น

 

  1. การมีจิตใจที่เข้มแข็งและมุ่งมั่น ว่าตนเองจะต้องแข็งแรงขึ้นและดำรงชีวิตต่อไปได้ดีขึ้นๆ ถ้าจิตใจเราเข้มแข็ง มุ่งมั่น ตั้งใจจะฝ่าฟันอุปสรรคที่เกิดขึ้นในร่างกายของเราเอง ไม่ช้าก็เร็ว เราจะสามารถผ่านพ้นอุปสรรคนั้นๆ ได้

 

ที่มา : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

บทความสุขภาพ
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.