B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / ส่องกล้องทางเดินอาหารไม่น่ากลัวอย่างที่คิด วินิจฉัยแม่นยำ รู้ผลเร็ว หยุดยั้งโรคร้ายตั้งแต่เนิ่น ๆ
ส่องกล้องทางเดินอาหารไม่น่ากลัวอย่างที่คิด วินิจฉัยแม่นยำ รู้ผลเร็ว หยุดยั้งโรคร้ายตั้งแต่เนิ่น ๆ
31 มีนาคม 2021

 

ความผิดปกติที่เกี่ยวกับโรคทางเดินอาหารและลำไส้อาจไม่ได้แสดงอาการให้เห็นชัดเจนตั้งแต่แรกเริ่ม และอาการทั้งหลายยังมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แม้จะเป็นโรคที่ต่างกันและร้ายแรงต่างกัน ดังนั้น การตรวจคัดกรองโรคทางเดินอาหารและลำไส้ด้วยการส่องกล้อง จึงเป็นวิธีบ่งชี้ความผิดปกติที่ดีที่สุด และอาจหยุดยั้งโรคร้ายได้แต่เนิ่นๆ ไม่ว่าจะมีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการเลย แต่อยู่ในช่วงวัยที่เสี่ยงต่อโรคอย่างวัย 40+ ขึ้นไป
 

การส่องกล้องทางเดินอาหารเป็นการตรวจที่พบได้บ่อยมาก โดยมีหลากหลายข้อบ่งชี้ ได้แก่ เลือดออกจากทางเดินอาหาร ท้องผูก ท้องเสียเรื้อรัง น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ มีประวัติโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว รวมไปถึงข้อบ่งชี้ที่พบบ่อยที่สุด คือ การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แม้ว่าจะไม่มีอาการผิดปกติก็ตาม คนไข้ที่จะได้รับการตรวจส่องกล้องครั้งแรก มักจะมีความกังวลแตกต่างกันไป แต่หากมีความเข้าใจและรู้จักการตรวจส่องกล้องกันก่อนแล้ว และมีการเตรียมตัวให้พร้อมก็ไม่ใช่เรื่องยากและจะช่วยลดความกังวลลงได้  โดยการส่องกล้องทางเดินอาหารมี 2 ชนิด คือ

 

  1. การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น 

จะใช้เพื่อตรวจหาความผิดปกติในระบบทางเดินอาหารส่วนต้น ตั้งแต่หลอดอาหาร ไล่ลงไปกระเพาะอาหาร ถึงลำไส้เล็กส่วนต้น ส่วนมากเพื่อหาสาเหตุอาการโรคกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน การกลืนลำบาก ปวดท้องเรื้อรัง ตรวจหาแผลในกระเพาะอาหาร เลือดออกในช่องท้อง หรือหาเนื้องอก

 

วิธีตรวจส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น

แพทย์จะใช้กล้องเอ็นโดสโคป ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก ยืดหยุ่นโค้งงอได้ มีเลนส์กล้องและแสงไฟที่ปลายท่อ สอดเข้าไปทางปากผ่านทางหลอดอาหารและลงไปยังกระเพาะอาหาร ซึ่งจะทำให้เห็นความผิดปกติที่เกิดในหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น


การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น

  • อดอาหารและน้ำ ก่อนเข้ารับการส่องกล้อง 6-8 ชั่วโมง
  • งดทานยาบางชนิดตามที่แพทย์แจ้งก่อนเข้ารับการตรวจ 7-10 วัน เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด อย่างแอสไพริน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกในกระเพาะระหว่างส่องกล้อง  ทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์
  • กระบวนการตรวจส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้นใช้เวลาไม่นาน เพียง 20 นาทีเป็นอันเสร็จสิ้น แต่ทั้งนี้ผู้ตรวจไม่ควรขับรถกลับบ้านเองหลังจากทำการส่องกล้อง เพราะยาระงับความรู้สึกหรือยาชาเฉพาะจุดที่ได้รับระหว่างการตรวจส่องกล้องอาจมีผลให้อ่อนเพลีย ง่วงนอน หรือมึนงงหลังการตรวจอีกสักพัก จึงควรพักผ่อนมากๆ และมีญาติรับกลับบ้าน

 

  1. การตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

เป็นการตรวจเพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติของผนังลำไส้ และสามารถตัดชิ้นเนื้อที่ผิดปกติบางขนิดออกได้โดยไม่ต้องผ่าตัดทางช่องท้อง หรือเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อมาตรวจวินิจฉัยเนื้อร้าย ผู้ที่ควรส่องกล้องลำไส้ใหญ่มักจะมีอาการเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ หรือติ่งเนื้อในลำไส้ หรือลำไส้อักเสบเรื้อรัง อาการเช่น ท้องผูกเรื้อรัง ท้องเสียเรื้อรัง ถ่ายเป็นเลือด อุจจาระลีบเล็ก ปวดท้อง ท้องอืดแน่น 

 

วิธีตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

แพทย์อาจให้ยาที่ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและง่วง แล้วจึงใช้กล้อง Colonoscope กล้องเป็นท่อขนาดเล็กเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เซ็นติเมตร ความยาวประมาณ 150 เซนติเมตร ยืดหยุ่น โค้งงอได้ สอดกล้องเข้าทางทวารหนักอย่างช้าๆ เข้าไปถึงส่วนของลำไส้ใหญ่ตอนต้น เพื่อให้เห็นภาพผนังภายในลำไส้ใหญ่และมองหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อหรือติ่งเนื้อที่ผิดปกติ

 

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

  • ก่อนเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ จำเป็นต้องทำความสะอาดลำไส้ใหญ่เพื่อให้แพทย์เห็นภาพได้ชัดเจนที่สุด โดยการถ่ายท้องให้ลำไส้สะอาด ส่วนใหญ่จะใช้วิธีดื่มของเหลวที่ช่วยกระตุ้นให้ลำไส้ทำงานและถ่ายท้อง หรือบางรายอาจใช้วิธีการสวนล้างลำไส้ กระบวนการนี้จะทำในคืนก่อนเข้ารับการตรวจส่องกล้อง
  • งดกินยาบางประเภทตามที่แพทย์สั่ง ก่อนถึงวันเข้ารับการส่องกล้อง
  • ก่อนวันนัดตรวจ 1 วัน ควรทานแต่อาหารเหลวที่ไม่มีกากใย เช่น ซุป อาหารอ่อน หรือโจ๊ก หรือน้ำผลไม้ชนิดใส
  • หลังการตรวจส่องกล้อง ผู้ป่วยควรนอนพักนิ่งๆ 2 ชั่วโมงก่อนกลับบ้าน เพื่อสังเกตอาการ อาจมีอาการอึดอัดท้อง ท้องอืด เนื่องจากมีลม อาการจะทุเลาลงหลังการตรวจ และไม่ควรขับรถกลับบ้านเอง ควรมีญาติพากลับบ้าน เนื่องจากการได้รับยาระงับความรู้สึก หรือในรายที่ได้รับยานอนหลับ

 

คำถามที่คนไข้มักจะถามคุณหมอเมื่อต้องส่องกล้อง

  1. ขณะรับการตรวจส่องกล้องจะเจ็บหรือไม่
    มักจะเป็นคำถามแรกที่คนไข้ทุกรายจะถามหมอก่อนเริ่มการตรวจ จะมีการปรับให้ยาระงับความรู้สึกจนคนไข้หลับก่อน ดังนั้นในขณะที่ตรวจคนไข้จะไม่รู้สึกปวดหรือไม่สบายท้องเลย คนไข้มักจะรู้สึกตัวอีกครั้งที่ห้องพักฟื้น ในกรณีที่ตรวจพบเนื้องอก สามารถทำการตัดเนื้องอกออกได้ทันที โดยไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆทั้งสิ้น

 

  1. การส่องกล้องมีความเสี่ยงหรือไม่
  • การส่องกล้องทางเดินอาหารมีความปลอดภัยสูงมาก คนไข้จะได้รับการประเมินร่างกายและอาการอย่างละเอียดเพื่อให้มั่นใจว่าจะเกิดประโยชน์และความปลอดภัยสูงที่สุด
  • หลังการส่องกล้อง คนไข้ส่วนมากจะไม่มีอาการปวดและจะจำไม่ได้ว่าส่องกล้องไปแล้ว ส่วนน้อยอาจมีอาการแน่นท้องเล็กน้อย ในกรณีที่ตรวจพบเนื้องอกและได้รับการตัดออก อาจมีความเสี่ยงเลือดออกภายหลังได้บ้าง

 

  1. ต้องนอนโรงพยาบาลหรือไม่
    การทานยาระบายเพื่อเตรียมลำไส้ใหญ่สามารถทำที่บ้านได้ แต่คนไข้ที่สูงอายุร่วมกับสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงมักจะแนะนำให้นอนโรงพยาบาล เพื่อเฝ้าระวังอาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น ได้แก่ หน้ามืดจากการสูญเสียน้ำ ความผิดปกติของเกลือแร่ในเลือด   เช้าวันที่มาส่องกล้อง หมอจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที ในการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน และประมาณหนึ่งชั่วโมงในการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่าง หลังจากนั้น ใช้เวลาพักฟื้นหลังส่องกล้องประมาณ 2 ชั่วโมง คนไข้จะทราบผลการตรวจและสามารถกลับบ้านได้

 

  1. มีความกังวล กลัวตรวจแล้วจะเจอมะเร็งลำไส้ใหญ่
    เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไข้บางรายหลีกเลี่ยงการตรวจ อาการที่ทำให้สงสัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ถ่ายปนเลือด ท้องผูก ปวดท้องจากลำไส้อุดตัน คลำได้ก้อนในช่องท้อง  สำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในผู้ที่ไม่มีอาการดังกล่าวมีโอกาสเจอมะเร็งน้อย ส่วนมากมักจะพบเนื้องอกที่ยังไม่กลายเป็นมะเร็ง การตรวจหาและทำการตัดเนื้องอกนี้จะเป็นการป้องกันมะเร็งในอนาคตได้ ดีกว่าการหลีกเลี่ยงการส่องกล้องไปเรื่อยๆ จนมีอาการจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งมักจะทำการรักษาได้ยาก

 

เมื่อรับทราบข้อมูลทั้งหมดแล้ว ก็อาจจะมีคนไข้ส่วนหนึ่ง ที่ก็ยังมีความกังวลอยู่ เนื่องจากไม่เคยได้รับการตรวจแบบนี้มาก่อน ดังนั้น การปรึกษาแพทย์เฉพาะทางระบบทางเดินอาหาร จะช่วยให้เกิดความมั่นใจได้มากขึ้น คลายความกลังวล  อย่างไรก็ตามคนไข้ในแต่ละคนก็จะมีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องของสุขภาพ อายุ ข้อบ่งชี้ในการตรวจ  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้ให้คำแนะนำเพื่อเลือกแนวทางการตรวจและรักษาที่เหมาะสมในคนไข้แต่ละรายอย่างดีที่สุด

 

 

บทความสุขภาพ
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.