B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / โรคความดันโลหิตสูง ภัยเงียบต่อหลอดเลือดและหัวใจ
โรคความดันโลหิตสูง ภัยเงียบต่อหลอดเลือดและหัวใจ
08 สิงหาคม 2023

โรคความดันโลหิตสูงถือเป็นภัยเงียบที่น่ากลัวต่อร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อหัวใจของเรา ทำให้เกิดโรคร้ายตามมา ไม่ว่าจะเป็น ภาวะหัวใจวาย โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ความน่ากลัวของโรคความดันโลหิตสูงคือ เป็นโรคที่มักไม่มีอาการ และจะเป็นโรคเรื้อรังที่รุนแรงถ้าไม่สามารถควบคุมโรคได้

อาการความดันโลหิตสูงเป็นอย่างไร?

ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการแต่อย่างใด อาจมีอาการปวดมึนท้ายทอย ตึงที่ต้นคอ เวียนศีรษะ บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะตุบๆ เหมือนไมเกรน ในผู้ป่วยที่เป็นมานาน อาจมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ  และเมื่อมีอาการมากอาจโคมา และเสียชีวิตได้

หากปล่อยไว้นาน ไม่รักษา! อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย ดังนี้

  • เลือดไปเลี้ยงไตไม่พอ ไตวายเรื้อรัง
  • หลอดเลือดหัวใจหนา หัวใจขาดเลือด หัวใจวาย
  • หลอดเลือดตีบ โป่งพอง เลือดไปเลี้ยงอวัยวะได้น้อยลง
  • มีผลต่อเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาเสื่อม
  • เป็นสาเหตุของอัมพฤกษ์ อัมพาต

ระดับความดันโลหิตเท่าไหร่เสี่ยงเป็นความดันโลหิตสูง

เราสามารถเช็คว่าเป็นความดันโลหิตสูงได้หรือไม่ ด้วยวิธีการวัดความดันโลหิต หากมีค่าความดันซิสโตลี (ค่าความดันตัวบน) มากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท (mm/Hg) หรือ ค่าความดันไดแอสโตลี (ค่าความดันตัวล่าง) มากกว่าหรือเท่ากับ 90 (mm/Hg) โดยวัดในขณะที่ผู้ป่วยอยู่ในสภาวะพัก นั่นหมายถึงคุณกำลังมีอาการของโรคความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูง ภัยเงียบทำลายหัวใจ

  • โรคความดันโลหิตสูง คือ ภาวะแรงกดดันในหลอดเลือดแดงที่มีค่าสูงเกินปกติ (140/90 มิลลิเมตรปรอท)
  • ความดันโลหิตสูง ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ทำให้ผนังหัวใจหนาตัวและถ้าไม่ได้รักษาอย่างถูกต้อง ผนังหัวใจจะยืดออกและเสียหน้าที่ ทำให้เกิดหัวใจโต และหัวใจวายได้ ดังนั้น ถ้าป้องกันความดันโลหิตสูง ก็สามารถป้องกันอันตรายจากโรคหัวใจได้
  • ความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติหรือสัญญาณเตือน ยกเว้นผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงระยะรุนแรงก็อาจมีอาการแสดง เช่น ปวดศีรษะรุนแรง หายใจได้สั้นลง เลือดกำเดาไหล
  • นอกจากโรคความดันโลหิตสูงที่เสี่ยงทำให้เกิดโรคหัวใจแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น หากเป็นโรคเบาหวาน โรคคอเลสเตอรอลในเลือดสูง โรคอ้วน ก็สามารถเป็นโรคหัวใจได้เช่นกัน
  • สามารถป้องกันโรคความดันโลหิตสูงได้ด้วยการ ลดกินเกลือ (โซเดียม) เพิ่มการรับประทานผักผลไม้(รสหวานน้อย) ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์น้อยลง งดสูบบุหรี่ รวมถึงหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่

วิธีการวัดความดันด้วยตนเองที่บ้าน

  • ไม่ดื่มชา กาแฟ สูบบุหรี่ หรือออกกำลังกายก่อนทำการวัด 30 นาที
  • ก่อนทำการวัดควรถ่ายปัสสาวะให้เรียบร้อย
  • นั่งเก้าอี้โดยให้หลังพิงพนัก เพื่อไม่ให้หลังเกร็ง เท้าทั้ง 2 ข้าง วางราบกับพื้น เพื่อให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายเป็นเวลา 5 นาที ก่อนวัดความดันโลหิต
  • วัดความดันโลหิตในแขนข้างที่ไม่ถนัด หรือข้างที่มีความดันโลหิตสูงกว่า โดยวางแขนให้อยู่ในระดับเดียวกันกับหัวใจ
  • ขณะวัดความดันโลหิตไม่กำมือ ไม่พูดคุยหรือขยับตัว

ค่าบนเครื่องวัดความดัน หมายถึงอะไร?

  • Systolic Blood Pressure (SBP) ตัวบน คือ ความดันของเลือดสูงสุดขณะหัวใจห้องล่างบีบตัว
  • Diastolic Blood Pressure (DBP) ตัวล่าง คือ ความดันเลือดที่ต่ำสุดขณะหัวใจห้องล่างคลายตัว
  • ความดันโลหิตเกณฑ์ปกติ คือ 120/80 (mm/Hg)
  • ความดันโลหิตค่อนข้างสูง แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 121-139/80-89 (mm/Hg)
  • ความดันโลหิตสูงมาก คือ ความดันโลหิตตัวบนมากกว่า (หรือเท่ากับ) 140 (mm/Hg) และตัวล่างมากกว่า (หรือเท่ากับ) 90 (mm/Hg)
  • ความดันโลหิตระดับอันตราย 160/100 (mm/Hg)

สุดท้ายนี้ความดันโลหิตสูงระดับอ่อนหรือปานกลาง มักจะไม่มีอาการอะไร แต่มีการทำลายอวัยวะต่างๆ ไปทีละน้อยอย่างช้าๆ จนผู้ป่วยเกิดผลแทรกซ้อน เช่น หัวใจล้มเหลว หัวใจขาดเลือด ไตเสื่อมสมรรถภาพ หรืออัมพาต อัมพฤกษ์ โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา การรักษาความดันโลหิตถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง และจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่อาจเกิดตามมา โดยหากทราบว่าตนเองเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้ว ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัย เช่น ตรวจภาวะหัวใจโต ตรวจภาวะไตเสื่อม และตรวจหาโปรตีนในปัสสาวะ รวมถึงตรวจหาโรคร่วมที่มาพร้อมกับความดันโลหิตสูง เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น

บทความสุขภาพ
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.