B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / มลพิษ PM2.5 ต่อสุขภาพเด็กและทารกในครรภ์
มลพิษ PM2.5 ต่อสุขภาพเด็กและทารกในครรภ์
07 กรกฎาคม 2020

มลพิษ PM2.5 ต่อสุขภาพเด็กและทารกในครรภ์ เนื่องจากลักษณะทางกายภาพและพฤติกรรมตามวัยของเด็ก รวมทั้งระบบต้านทานมลพิษที่เยื่อบุทางเดินหายใจ และระบบภูมิคุ้มกันยังเจริญไม่เต็มที่ เด็กจึงเป็นประชากรที่มีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับผลกระทบจากมลพิษ จึงไม่สามารถป้องกันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเท่าผู้ใหญ่ ทางราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเด็กและหญิงตั้งครรภ์ ดังต่อไปนี้

  1. ทารกในครรภ์มารดา มีการเจริญเติบโตและอยู่ในช่วงกำลังพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ เช่น ปอด และสมอง การ ได้รับมลพิษในช่วงนี้ อาจส่งผลระยะยาวต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงมลพิษเป็นพิเศษ โดยเฉพาะหญิงที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 6 เดือน
  2. ในเด็กปกติ ระดับคุณภาพอากาศที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพและกิจกรรมในชีวิตประจำวัน คือ ระดับ AQI มากกว่า 100 หรือ PM2.5 มากกว่า 50 มคก./ลบ.ม.
  3. ในเด็กที่มีปัญหาทางระบบหายใจเรื้อรัง เช่น โรคหืด โรคปอดเรื้อรัง เยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และ โรคหัวใจ ระดับคุณภาพอากาศที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพและกิจกรรมในชีวิตประจำวัน คือ ระดับ AQI มากกว่า 50 หรือ PM 2.5 มากกว่า 37 มคก./ลบ.ม.
  4. ระดับคุณภาพอากาศในอาคารที่เหมาะสม คือ ระดับ AQI ไม่เกิน 50 หรือ PM 2.5 ไม่เกิน 37 มคก./ลบ. ม. เมื่อระดับคุณภาพอากาศภายนอกเกินเกณฑ์มาตรฐาน ควรปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด โดยระวังอย่าให้ห้องร้อนเกินไป ไม่สูบบุหรี่ หรือจุดธูปในอาคาร ถูพื้นโดยใช้ผ้าเปียก เพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง หากภายในอาคารมีมลพิษสูง ควรใช้เครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศที่สามารถกำจัด PM2.5 ได้ ไม่ควรใช้เครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศที่มีการผลิตโอโซนเพราะโอโซนในปริมาณมากเป็นมลพิษอย่างหนึ่ง
  5. โรงเรียนควรมีการติดตามรายงานคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ และพิจารณาปรับกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ เมื่อระดับ AQI มากกว่า 100 หรือ PM 2.5 มากกว่า 50 มคก./ลบ.ม. ควรสวมหน้ากากอนามัยและไม่ ควรออกกำลังกายกลางแจ้ง เมื่อระดับ AQI มากกว่า 200 หรือ PM 2.5 มากกว่า 90 มคก./ลบ.ม. ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งและพิจารณาหยุดเรียน ในเด็กที่มีปัญหาทางระบบหายใจและโรคหัวใจ เมื่อระดับ AQI มากกว่า 50 หรือ PM 2.5 มากกว่า 37 มคก./ลบ.ม. ควรสวมหน้ากากอนามัยและไม่ควรออกกำลังกายกลางแจ้ง เมื่อระดับ AQI มากกว่า 100 หรือ PM 2.5 มากกว่า 50 มคก./ลบ.ม. ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งและพิจารณาหยุดเรียน
  6. ในอนาคตควรมีมาตรการในการลดระดับ มาตรฐาน PM2.5 ของประเทศไทย ให้ใกล้เคียงกับข้อแนะนำจาก องค์การอนามัยโลก

*ระดับ AQI และ PM 2.5 อ้างอิงตามระดับของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม

ที่มา : แถลงการณ์จากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็ก สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืดและวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย เรื่อง มลพิษ PM2.5 ต่อสุขภาพเด็กและทารกในครรภ์

บทความสุขภาพ
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.