ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์ ให้บริการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาด้านหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ โดยอายุรแพทย์ชำนาญการโรคหัวใจ และทีมสหสาขาที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด รวมถึงเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อตรวจวิเคราะห์หาความผิดปกติได้อย่างถูกต้อง แม่นยำและรวดเร็ว พร้อมให้การติดตามประเมินผลหลังการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ท่านมีสุขภาพหัวใจที่แข็งแรง ห่างไกลโรค
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือนัดหมายล่วงหน้า
ศูนย์หัวใจ ชั้น 1 อาคารสมสราญ โทร 02 532 4444 ต่อ 1111, 1120
เป็นการตรวจกระแสไฟฟ้าและจังหวะการเต้นของหัวใจ โดยปกติแล้วหัวใจจะปล่อยไฟฟ้าออกมาเป็นจังหวะ เพื่อให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัว การตรวจ EKG ทำได้โดยการติดตัวรับกระแสไฟฟ้าตามตำแหน่งต่างๆ ได้แก่ แขน ขา และหน้าอก รวม 10 จุด จากนั้น เครื่องจะประมวลผลออกมาเป็นกราฟหัวใจให้เห็น สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับหัวใจ เช่น จังหวะการเต้น ความสม่ำเสมอ การนำไฟฟ้าในหัวใจ ชนิดของการเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจตาย กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความผิดปกติของระดับเกลือแร่บางชนิด เป็นต้น
• ข้อดี : ผู้ป่วยไม่เจ็บตัว ค่าใช้จ่ายไม่แพง
• ข้อจำกัด : ไม่ได้บอกความผิดปกติของขนาดหัวใจ ลิ้นหัวใจ หรือหลอดเลือดหัวใจโดยตรง
เป็นการตรวจวัดประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ เช่น การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ขนาดของห้องหัวใจ การไหลเวียนเลือดในหัวใจ โดยการส่งคลื่นความถี่สูง (Ultrasound) ไปยังหัวใจของคุณ ทำให้เกิดสัญญาณสะท้อนกลับมา แสดงให้เห็นผลเป็นภาพการทำงานของหัวใจบนจอ สามารถใช้วินิจฉัยโรคหัวใจแต่กำเนิด, โรคลิ้นหัวใจตีบ, โรคลิ้นหัวใจรั่ว, กล้ามเนื้อหัวใจตาย, ภาวะหัวใจโป่งพอง และโรคของเยื่อหุ้มหัวใจ เป็นต้น
• ข้อดี : ผู้ป่วยไม่เจ็บตัว มองเห็นการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ และ ลิ้นหัวใจ โดยไม่ต้องอดอาหาร
• ข้อจำกัด : ไม่เห็นเส้นเลือดหัวใจ และอาจมองเห็นไม่ชัดเจนในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมาก หรือ ในผู้ป่วย โรคอ้วน เพราะไขมันอาจขัดขวางคลื่นความถี่สูงได้
เป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัยภาวะหัวใจขาดเลือดขณะออกกำลังกาย ขณะที่ผู้ป่วยเดินสายพาน แพทย์จะสังเกตการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และ การตอบสนองที่ผิดปกติ เช่น หายใจลำบาก เจ็บแน่นหน้าอก หรือมีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ หากมีอาการเหล่านี้ อาจบ่งชี้ได้ว่ามีภาวะการขาดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจในระหว่างการออกกำลังกาย
• ข้อดี : ผู้ป่วยไม่เจ็บตัว ทำให้ทราบโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่
• ข้อจำกัด : ไม่สามารถมองเห็นโครงสร้างหัวใจ และไม่สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับขา ข้อหรือเข่า และผู้ป่วยที่มีอายุมาก
เป็นการตรวจเส้นเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่มีความเร็วสูง (CT scan) เพื่อดูปริมาณหินปูนหรือแคลเซียมที่สะสมภายในผนังหลอดเลือดหัวใจ เป็นวิธีการตรวจที่ง่าย ผู้เข้ารับการตรวจเพียงนอนราบนิ่งๆ บนเตียงก่อนเลื่อนเตียงเข้าไปตรวจสแกนร่างกายในเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) ระหว่างตรวจอาจจะต้องกลั้นหายใจสั้นๆ เป็นบางช่วง ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ได้ภาพเอกซเรย์ที่ชัดเจน ใช้เวลาการตรวจประมาณ 10 – 15 นาที ซึ่งวิธีนี้จะช่วยค้นหาความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคตได้
• ข้อดี : ได้ภาพที่มีความละเอียดสูงกว่าการเอกซเรย์แบบธรรมดา และสามารถใช้ตรวจได้เกือบทุกส่วน, ผู้ป่วยไม่เจ็บตัว, ไม่ต้องฉีดยาหรือฉีดสีใช้สารทึบแสง, สะดวก รวดเร็ว, ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
• ข้อจำกัด : ไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีประวัติได้รับการใส่ขดลวดที่เส้นเลือดหัวใจ หรือผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจมาก่อน, ผู้ที่มีข้อจำกัดในการนอนราบ, ไม่สามารถทำตามคำสั่งได้, หญิงตั้งครรภ์
• เป็นเทคโนโลยีการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่มีความเร็วสูง (CT scan) เพื่อตรวจดูเส้นเลือดและโครงสร้างของหัวใจทั้งหมด โดยเครื่องจะแสดงให้เห็นผลเป็นภาพ 2 มิติ และ 3 มิติ ว่ามีหลอดเลือดหัวใจตีบ, อุดตัน หรือความผิดปกติอื่นๆ บ้างหรือไม่ รวมถึงใช้ติดตามผลการรักษาในรายที่เคยมีประวัติผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ หรือการทำบายพาส การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน
• ขั้นตอนการตรวจ คือ ผู้รับบริการจะได้รับยาพ่นใต้ลิ้น เพื่อขยายหลอดเลือดหัวใจก่อนการตรวจ ช่วยให้ได้ภาพหลอดเลือดหัวใจที่ชัดเจนขึ้น ในระหว่างตรวจจะมีการฉีดสารทึบรังสี และวัดอัตราการเต้นของหัวใจหรือชีพจรอย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ เช่น การกลั้นหายใจ เพื่อให้ได้ภาพที่ดีและคมชัด
• ข้อดี : ผลการตรวจมีความแม่นยำ ภาพที่ได้มีความละเอียดคมชัด ทำได้รวดเร็วและปลอดภัย
• ข้อจำกัด : ผู้ป่วยที่เป็นโรคไต, ผู้ที่แพ้สารทึบรังสีที่ต้องใช้ในการตรวจนี้
เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็ก ทำหน้าที่บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ตลอด 24 ชั่วโมง โดยอุปกรณ์จะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ตัวเครื่อง และ ส่วนขั้วไฟฟ้า (electrode) แปะบริเวณหน้าอก โดยส่วนตัวเครื่องอาจจะใช้วิธีห้อยคอ หรือสะพายข้างเอวก็ได้ เมื่อติดเครื่อง Holter Monitoring แล้วสามารถกลับไปพักที่บ้านหรือทำงานได้ตามปกติ และเมื่อครบกำหนด 24 ชม. แล้วจึงกลับมาถอดเครื่องคืนในวันถัดไป และรอแพทย์นัดหมายเพื่อเข้ามารับทราบผลการตรวจวิเคราะห์และวางแผนการรักษาต่อไป
การตรวจด้วยวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการใจสั่นเป็นประจำ หรือเป็นลม วูบหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุบ่อยๆ หรือผู้ที่รับการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยยาเพื่อประเมินประสิทธิภาพหลังการรักษา
ห้องปฏิบัติการสำหรับการตรวจหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ (Cardiac Catheterization Lab) หรือ Cath Lab เป็นห้องพิเศษที่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการประมวลภาพหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดตามส่วนอื่นๆของร่างกาย โดยภาพจะปรากฏขึ้นที่จอและบันทึกเป็นเทปโทรทัศน์ระบบดิจิตอลสามารถปรับหมุนได้รอบทิศทาง สามารถตรวจดูซ้ำได้อย่างละเอียดทำให้แพทย์ได้ภาพจากทุกมุมตามต้องการได้อย่างรวดเร็วและชัดเจน
การตรวจสวนหัวใจ
การตรวจสวนหัวใจ เป็นการวินิจฉัยโรควิธีหนึ่ง เพื่อตรวจดูตำแหน่งผิดปกติและความรุนแรงของหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ดูความผิดปกติของลิ้นหัวใจ การหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ หากพบความผิดปกติของเส้นเลือดหัวใจตีบอุดตัน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็จะทำการรักษาได้โดยการใส่บอลลูนขยาย (Balloon) และ/หรือใส่ขดลวดถ่างขยาย (Stent)
• วิธีการตรวจ
1. แพทย์ฉีดยาชาเฉพาะที่ บริเวณขาหนีบ ข้อมือ ข้อพับ จุดใดจุดหนึ่ง
2. ใส่ท่อสายพลาสติกขนาดเล็กที่ปราศจากเชื้อโรคเข้าสู่หลอดเลือดแดง ย้อนเข้าไปสู่หัวใจและไปจ่ออยู่ตรงทางออกของหลอดเลือด
3. ฉีดสีผ่านท่อนี้พร้อมกับถ่ายรูปของหลอดเลือดและหัวใจ โดยใช้กล้องเอกซเรย์พิเศษ
4. หากพบรอยโรคหัวใจมีการตีบตัน แพทย์สามารถทำการรักษาต่อโดยไม่ต้องเปิดหรือแทงเข็มเพิ่มจากตำแหน่งเดิม โดยใส่ลวดนำทางวางสายนำทางในหลอดเลือด เพื่อไปยังตำแหน่งที่มีการตีบตันของเส้นเลือด แล้วทำการขยายด้วยบอลลูน (balloon) หรือขดลวด (Stent)
• แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจด้วยการสวนหัวใจ ในกรณีได้รับการตรวจอื่นๆ ก่อนหน้านี้ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การวิ่งสายพาน การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ หรือการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แล้วพบความผิดปกติที่สงสัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรง หรือรักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผล
จึงวินิจฉัยขั้นสุดท้ายให้ทำการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ เพื่อวางแผนการรักษาขั้นต่อไป
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ สาเหตุเกิดจาก มีจุดกำเนิดไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติหรือมีการลัดวงจรของกระแสไฟฟ้าในหัวใจ การนำไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ส่งผลให้เกิด ภาวะหัวใจเต้นเร็วหรือ เต้นผิดจังหวะ แนวทางการรักษา คือ ถ้าหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดไม่รุนแรง รักษาโดยการรับประทานยาได้ แต่หากมีอาการรุนแรง ได้แก่ หน้ามืด เป็นลม หรือมีอาการบ่อยๆ แนะนำรักษาด้วยการจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง การจี้รักษาด้วยพลังงานความร้อนเท่าคลื่นวิทยุ โดยใช้สายสวนพิเศษ (Radiofrequency Catheter Ablation : RFCA) คือ การรักษาภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติที่ได้ผลดี (80 –95%) โดยใส่สายสวนไปวางที่ตำแหน่งต่าง ๆ ในหัวใจ เพื่อวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และใช้กระตุ้นหัวใจ จากนั้นแพทย์จะสอดสายสวนพิเศษเข้าไป เพื่อหาตำแหน่งที่หัวใจนำไฟฟ้าเร็วกว่าปกติ เมื่อได้ตำแหน่งที่ต้องการ จะปล่อยกระแสไฟฟ้าความถี่สูง ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนที่ปลายสายสวนพิเศษนี้ ทำให้การนำไฟฟ้าที่จุดนั้นถูกทำลาย
คือ การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ด้วยการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Permanent Pacemaker) คือ การฝังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กเข้าไปในใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอกด้านบน เพื่อกระตุ้นจังหวะการเต้นของหัวใจ ช่วยแก้ไขจังหวะการเต้นของหัวใจที่เต้นช้าหรือการเต้นไม่สม่ำเสมอ โดยจะส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังหัวใจห้องที่ทำงานผิดปกติ เพื่อช่วยให้หัวใจเต้นเร็วพอที่จะสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอ
• ชนิดของการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ
แพทย์จะพิจารณาเลือกวิธีการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งมี 2 วิธี คือ
- การฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจแบบใส่สายสื่อสัญญาณที่เยื่อบุหัวใจ
(Endocardial Lead Placement)
- การฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจแบบติดสายสื่อสัญญาณที่เยื่อบุหัวใจ
(Epicardial Lead Placement)
• ประเภทของเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ
1. เครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจชนิดห้องเดียว (Single chamber) คือ การใส่สายแบบถาวรหนึ่งเส้น บริเวณหัวใจห้องล่างขวา
2. เครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจชนิดสองห้อง (Dual chamber) คือ การใส่สายแบบถาวร 2 เส้น บริเวณหัวใจห้องบนขวาและห้องล่างขวา
3. เครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจชนิดพิเศษ (Cardiac Resynchronization Therapy: CRT หรือ Biventricular pacing) คือ การใส่สายแบบถาวร 2 เส้นและเพิ่มอีกหนึ่งเส้น เพื่อกระตุ้นหัวใจห้องล่างทั้ง 2 ข้างให้บีบตัวสัมพันธ์กัน
ซึ่งใช้รักษาผู้ป่วยที่มีหัวใจห้องล่างบีบตัวไม่ดี
• ขั้นตอนการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ
1. วิสัญญีแพทย์ให้ยาระงับความรู้สึกตามความเหมาะสม
2. แพทย์ฉีดยาชาเฉพาะที่เพื่อลดความเจ็บปวด
3. เปิดแผลยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร บริเวณใต้กระดูกไหปลาร้าข้างใดข้างหนึ่ง
4. ใส่สายนำสัญญาณไฟฟ้า เข้าไปที่ห้องหัวใจห้องบนขวา และ/หรือห้องล่างขวา หลังจากนั้นใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ บริเวณใต้กระดูกไหปลาร้า
5. ทดสอบการทำงานของเครื่องและตั้งโปรแกรมให้เหมาะสมกับผู้ป่วย
6. เย็บปิดแผลด้วยไหมละลาย และคล้องแขนข้างที่ทำประมาณ 48 ชั่วโมง
7. ใช้เวลาในการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ ประมาณ 1-2 ชั่วโมง
8. ขณะอยู่ในห้องสังเกตอาการ ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจวัดสัญญาณชีพ และเฝ้าติดตามอาการจากแพทย์และพยาบาลอย่างใกล้ชิดก่อนย้ายไปห้องพักผู้ป่วยใน
คือ อุปกรณ์ที่ผ่าตัดฝังติดตัวผู้ป่วย เพื่อตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าในหัวใจตลอดเวลา และปล่อยไฟฟ้าพลังงานสูงผ่านหัวใจ เพื่อรักษาในทันทีที่พบว่า หัวใจเต้นผิดจังหวะถึงขั้นอันตรายแก่ชีวิต หากผู้ป่วยมีอาการนอกโรงพยาบาล
มีโอกาสน้อยมากที่จะได้รับการรักษาด้วยเครื่องช็อคไฟฟ้า (Defibrillator) ในทันเวลา ดังนั้น ผู้ป่วยควรได้รับการผ่าตัดใส่เครื่องเครื่องช็อคไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติชนิดผ่าตัดฝังติดตัวผู้ป่วย แต่อย่างไรก็ตาม เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติชนิดถาวรไม่ได้ช่วยเรื่องการบีบตัวของหัวใจ หรือช่วยให้ภาวะหัวใจล้มเหลวดีขึ้น