B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / โรคหลอดเลือดหัวใจ
โรคหลอดเลือดหัวใจ
26 มกราคม 2021

โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นอีกหนึ่งโรคที่มีความรุนแรง และสามารถทำให้เสียชีวิตได้ ส่วนใหญ่เกิดจากไขมันและเนื้อเยื่อสะสมในผนังของหลอดเลือด ทำให้เยื่อบุผนังหลอดเลือดชั้นในตำแหน่งนั้นหนาตัวขึ้น ทำให้หลอดเลือดมีการตีบแคบลง ทำให้เลือดซึ่งนำออกซิเจนไหลผ่านได้น้อยลง ส่งผลให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ จนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งจะทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกเกิดขึ้น  หากเกิดการอุดตันของหลอดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งมักเกิดจากคราบไขมันที่สะสมอยู่ที่ผนังของหลอดเลือดชั้นในแตกออกและกลายเป็นลิ่มเลือด จะส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อันนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ หรือเสียชีวิตกะทันหันได้

 

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

  1. ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมหรือปรับเปลี่ยนได้ ได้แก่
    • อายุ เมื่ออายุมากขึ้นเกิดการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดเพิ่มขึ้น
    • เพศ ผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้มากกว่าผู้หญิง แต่ในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้วมีโอกาสเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจใกล้เคียงกับผู้ชาย
    • ประวัติครอบครัว หากมีบุคคลในครอบครัว เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ พี่ น้อง เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ก็มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นได้

 

  1. ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมหรือปรับเปลี่ยนได้
  • การสูบบุหรี่ พบว่าผู้สูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 2.4 เท่า เนื่องจากสารพิษในบุหรี่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรค เช่น นิโคตินมีผลทำให้เกิดการทำลายเยื่อบุผนังหลอดเลือดชั้นในของหลอดเลือดแดง คาร์บอนมอนอกไซด์จะทำลายคุณสมบัติในการเป็นพาหนะนำออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อย เป็นผลให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น ไฮโดรเจนไซยาไนด์ทำให้เกิดหลอดเลือดแดงแข็ง นอกจากนี้ ควันบุหรี่ยังทำให้เกล็ดเลือดเกาะกันมากขึ้น ทำให้เลือดจับกันเป็นก้อนได้ง่ายขึ้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ส่งเสริมให้เกิดหลอดเลือดแดงตีบหรืออุดตันเฉียบพลันได้ในทันที
  • ภาวะความดันโลหิตสูง มีเกณฑ์ในการวินิจฉัย คือ มีค่าสูงกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท โดยภาวะความดันโลหิตสูง จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัวขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งนี้พบว่าการรับประทานเกลือโซเดียมมาก เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความดันโลหิตสูงเพิ่มมากขึ้นด้วย
  • ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ คือ ระดับไขมันในเลือดที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดแดงตีบตัน ระดับไขมันในเลือดที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่ไม่เป็นโรคหรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงด้านไขมันผิดปกติและควรใช้เป็นค่าสำหรับควบคุมตัวเองในการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ คือ ระดับคอเลสเตอรอลรวมน้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ระดับแอลดีแอลคอเลสเตอรอล (LDL-C) หรือไขมันตัวร้ายน้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เอชดีแอลคอเลสเตอรอล (HDL-C) หรือไขมันตัวดีมากกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้หญิง และมากกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้ชาย และระดับไตรกลีเซอไรด์น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • การไม่ออกกำลังกาย พบว่าการไม่มีกิจกรรมทางกาย หรือการไม่ออกกำลังกายจะทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า
  • น้ำหนักมากหรืออ้วน การปล่อยให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การมีดัชนีมวลกายที่มากขึ้น เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งนี้คนในประเทศเอเชียควรมีค่าดัชนีมวลกายมาตรฐานไม่เกิน 23 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือโรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังส่งผลให้เกิดการเสื่อมของหลอดเลือดทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ทำให้เซลล์เยื่อบุภายในหลอดเลือดทำงานผิดปกติ เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งทำให้อวัยวะต่างๆ ของร่างกายเสื่อมสภาพและถูกทำลาย และก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตามมาได้
  • ทานอาหารไม่มีประโยชน์ ทานผักและผลไม้ในแต่ละวันน้อยเกินไป พบว่าปัจจุบันนี้คนเรารับประทานอาหารที่มีรสหวาน อาหารที่มีไขมันและแคลอรีสูง แต่รับประทานผักและผลไม้น้อย ซึ่งเป็นผลก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้
  • ความเครียด ปัจจัยทางด้านความเครียด 5 ประการ ที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ สภาพจิตใจที่โศกเศร้ามีความเครียดเรื้อรังเป็นเวลานานติดต่อกัน และยังไม่สามารถจัดการกับสาเหตุของความเครียดนั้นได้ ภาวะเก็บกดด้านอารมณ์ ความรู้สึกไม่เป็นมิตร ขาดการเชื่อมสัมพันธ์ และแรงสนับสนุนทางสังคมและครอบครัว และคิดว่าตนเองมีปมด้อยด้านฐานะเศรษฐกิจและสถานะทางสังคม ล้วนส่งผลต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้

อาการโรคหลอดเลือดหัวใจ

  • อาการเจ็บเค้นอกที่เป็นลักษณะเฉพาะของโรคหัวใจขาดเลือด คือ อาการเจ็บหนักๆ เหมือนมีอะไรมาทับหรือรัดบริเวณกลางหน้าอก หรือใต้กระดูกกลางหน้าอก อาจมีร้าวไปบริเวณคอ กราม ไหล่ และแขนทั้ง 2 ข้าง โดยเฉพาะข้างซ้าย เป็นมากขณะออกแรง เป็นนานครั้งละ 2-3 นาที เมื่อนั่งพักหรืออมยาขยายหลอดเลือดใต้ลิ้นอาการจะทุเลาลง
  • มีอาการเหนื่อยง่ายขณะออกแรงหรือออกกำลังกายที่เกิดขึ้นเฉียบพลันภายใน 1–2 สัปดาห์ หรือที่เกิดขึ้นเรื้อรังเกินกว่า 3 สัปดาห์ขึ้นไป
  • มาด้วยอาการเหนื่อย หายใจหอบ นอนราบไม่ได้ แน่นอึดอัด หายใจเข้าไม่เต็มปอด อาจมีอาการเจ็บเค้นอก ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ อาการอาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันหรือเป็นๆ หายๆ มาเป็นเวลานาน
  • มีอาการหน้ามืด เวียนศีรษะ เป็นลม ร่วมกับอาการแน่นหน้าอก ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากมีความดันโลหิตต่ำเฉียบพลัน
  • อาการหมดสติหรือหัวใจหยุดเต้น

ผลกระทบหลอดเลือดหัวใจตีบ

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นโรคที่มีอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะถ้าหากปล่อยทิ้งไว้หรือรู้ตัวช้า ทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมตามเวลา เมื่ออายุมากขึ้นหรือมีปัจจัยเสี่ยง ไขมันจะเริ่มเกาะที่ผนังหลอดเลือดด้านใน ทำให้หลอดเลือดตีบหรือแคบลง ส่งผลต่อเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ หากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดการปริแตกของหลอดเลือด เกล็ดเลือดหลุดเข้าไปอุดตันทางเดินของหลอดเลือด และเมื่อมีการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจเกินร้อยละ 50 คนไข้จะเริ่มมีอาการแสดง

 

การตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจ

  • การตรวจร่างกายและการซักประวัติ เช่น ประวัติในครอบครัว ประวัติการสูบบุหรี่ การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย โรคประจำตัว เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ทราบว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจหรือไม่
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษ ได้แก่ 
    • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrocardiogram)
    • การถ่ายภาพรังสีของทรวงอก (chest X-ray)
    • การตรวจระดับเอนไซม์กล้ามเนื้อหัวใจในเลือด (cardiac enzyme test)
    • การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (exercise stress test)
    • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (echocardiogram)
    • การตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอ์ความเร็วสูง (computer tomographic angiography)
    • การสวนหัวใจหรือการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ (cardiac catheterization or coronary angiogram)

แนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ

  • ให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น เลิกสูบบุหรี่ ควบคุมอาหาร ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กำจัดความเครียด
  • หากหลอดเลือดตีบตันเพียงบางส่วน รักษาด้วยยา เช่น ยาต้านเกล็ดเลือด ยาต้านการแข็งตัวของลิ่มเลือด ยาขยายหลอดเลือด ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ ยาลดไขมัน ยาควบคุมความดันโลหิต เป็นต้น
  • หากหลอดเลือดตันมาก รักษาด้วยการทำบอลลูนหัวใจ หรือ รักษาโรคหลอดเลือดโคโรนารีผ่านสายสวน เป็นการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน  ร่วมกับการสอดฝังขดลวดค้ำยันผนังหลอดเลือด การให้ยาละลายลิ่มเลือด หรือใช้เครื่องมือทางการแพทย์ชนิดพิเศษ
  • หากไม่สามารถทำบอลลูนหัวใจได้ รักษาด้วยการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ

การป้องกันตนเองให้ห่างไกลโรคหลอดเลือดหัวใจ

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ควรบริโภคอาหารให้เหมาะสมกับความต้องการใช้พลังงานในแต่ละวันของแต่ละบุคคล เพื่อให้เกิดความสมดุลของพลังงานในร่างกาย ทั้งนี้ควรรับประทานอาหารที่มีไขมันและแคลอรีต่ำ หลีกเลี่ยงไขมันจากสัตว์ ไขมันอิ่มตัวและไขมันไม่อิ่มตัวชนิดทรานส์ ลดเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล เน้นการบริโภคผักและผลไม้หลากสีให้มากขึ้น หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเค็มจัด อาหารขยะ อาหารจานด่วน และอาหารสำเร็จรูป
  • หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอหรือเพิ่มกิจกรรมทางกาย การมีกิจกรรมทางกายหรือการออกกำลังกายอย่างเพียงพอ หมายถึง การมีกิจกรรมทางกายตั้งแต่ระดับปานกลางขึ้นไป คือการออกแรงหรือออกกำลังกายที่ทำให้ร่างกายหายใจแรงขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้นปานกลาง ออกแรงกายต่อเนื่องเป็นเวลาตั้งแต่ 10 นาทีขึ้นไปในแต่ละครั้ง อาจเป็นกิจกรรมที่เดินไปมาในที่ทำงาน การทำงานบ้าน ทำครัว ถือของเบาๆ ไม่หนักเกินไป รวมถึงกิจกรรมจากการทำงาน กิจกรรมจากการเดินทางในชีวิตประจำวัน หรือกิจกรรมยามว่างก็ได้
  • เลิกสูบบุหรี่ พบว่าการหยุดสูบบุรี่เพียง 20 นาที ความดันโลหิตจะลดลงสู่ระดับปกติ การหยุดสูบอย่างน้อย 10 ปีจะมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดใกล้เคียงกับคนที่ไม่สูบบุหรี่ และการหยุดสูบติดต่อกันนานมากกว่า 15 ปี ความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจจะลดลงเหลือเท่ากับคนที่ไม่สูบบุหรี่
  • ลดความเครียด วิธีการจัดการความเครียดที่ดีที่สุด คือ การเลือกวิธีที่ตนเองชอบและพึงพอใจ เช่น การออกกำลังกาย การฝึกโยคะ การนั่งสมาธิ ส่งเสริมการได้รับความรักความอบอุ่นจากครอบครัว ส่งเสริมให้บุคคลมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชนหรือในที่ทำงาน

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik

บทความสุขภาพ
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.