B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ภัยร้ายที่อันตรายถึงชีวิต
โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ภัยร้ายที่อันตรายถึงชีวิต
24 กุมภาพันธ์ 2021

 

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เกิดจากการตีบตันของหลอดเลือด ส่วนมากเป็นผลมาจากความเสื่อมตามอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ชายอายุมากกว่า 45 ปี และผู้หญิงอายุมากกว่า 55 ปี หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้หลอดเลือดเสื่อมเร็วกว่าปกติ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง ภาวะน้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วน การสูบบุหรี่ ความเครียด ขาดการออกกำลังกาย และโรคทางพันธุกรรมบางอย่าง ทำให้ปัจจุบัน พบผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ  หากรักษาไม่ทัน อาการอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

 

วิธีสังเกตอาการผิดปกติ ที่เป็นสาเหตุของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน มีดังนี้

อาการเจ็บหน้าอก หรือแน่นหน้าอก ถือว่าเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด แต่ไม่ทุกคนที่จะมีอาการนี้ ส่วนมากจะมีลักษณะแน่นตรงกลางหน้าอกเหมือนมีอะไรมาทับ อาจมีอาการปวดร้าวไปที่คอ ขากรรไกร ไหล่หรือแขนด้านซ้าย อาการเจ็บหน้าอกเป็นมากและรุนแรง มักเป็นนานติดต่อกันมากกว่า 20 – 30 นาที นั่งพักแล้วไม่ดีขึ้น บางรายมีอาการเหงื่อออก ใจสั่น หน้ามืด ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง ในบางรายมีอาการหายใจหอบเหนื่อย จนถึงขั้นหมดสติไม่รู้สึกตัว โดยผู้ป่วยอาจไม่เคยมีอาการเจ็บหน้าอกมาก่อนก็ได้

ทั้งหมดนี้ถือว่า เป็นสัญญาณวิกฤตของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ที่ผู้ป่วยควรต้องรีบไปพบแพทย์ หรือเรียกรถฉุกเฉินของโรงพยาบาลทันที

 

วิธีการป้องกันการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ได้แก่

  • งดการสูบบุหรี่ และลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • อย่าปล่อยให้เป็นโรคอ้วน รักษาระดับน้ำหนักและสุขภาพอยู่เสมอ
  • ลดอาหารที่มีไขมันสูง กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำตาล ของหวาน เพิ่มการทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น
  • หมั่นออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์
  • ลดภาวะความเครียดทางอารมณ์ ฝึกสมาธิเพื่อความผ่อนคลาย
  • การตรวจสุขภาพประจำปี โดยหากมีประวัติญาติหรือบุคคลในครอบครัวเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ควรตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปีและประเมินโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือมีระดับไขมันในเลือดสูง ต้องติดตามรักษากับแพทย์จะช่วยป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดหรือภาวะแทรกซ้อน

 

วิธีการรักษาโรคหัวใจขาดเลือด มี 3 วิธี ดังนี้

  1. การรักษาโดยการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน เป็นวิธีที่นิยมที่สุด ได้ผลการรักษาดีกว่าการใช้ยาละลายลิ่มเลือด ผู้ป่วยไม่ต้องมีแผลผ่าตัด พักฟื้นไม่นาน แต่ต้องทำในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมห้องฉีดสีสวนหัวใจ ทีมแพทย์ พยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด
  2. การรักษาโดยใช้ยาละลายลิ่มเลือด แพทย์จะฉีดยาที่มีฤทธิ์ ในการละลายเลือดที่แข็งตัว เพื่อสลายลิ่มเลือดที่อุดตันอยู่ที่เส้นเลือดแดงหัวใจ
  3. การรักษาโดยการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ ส่วนมากทำในกรณีที่หลอดเลือดหัวใจตีบตันหลายเส้น และไม่สามารถทำการรักษาด้วยวิธีอื่นได้

อย่างไรก็ตาม หากมีสัญญาณเตือนอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที หากชะล่าใจ อาการอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

แหล่งอ้างอิง : คู่มือ รู้ทันโรค และภัยสุขภาพ สำหรับประชาชน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (บทวิทยุสุขภาพ)

ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik

บทความสุขภาพ
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.