B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / ต้อเนื้อ (Pterygium) 
ต้อเนื้อ (Pterygium) 
29 เมษายน 2024

ต้อเนื้อ (Pterygium) 

เป็นโรคต้อชนิดหนึ่งที่คนไทยเป็นกันมาก โดยเฉพาะในผู้ที่ทำงานกลางแจ้งวัย 40 ปีขึ้นไป โรคต้อเนื้ออาจไม่ได้มีผลกับการมองเห็น เพียงแต่ทำให้รู้สึกรำคาญได้มาจากการระคายเคืองบริเวณที่เป็นต้อ ทั้งยังรักษาให้หายขาดได้ และแม้จะเป็นมากจนก้อนต้อเข้าไปบดบังรูม่านตาจนสูญเสียการมองเห็น ก็ยังสามารถรักษาโดยการผ่าตัดลอกต้อเนื้อให้กลับมามองเห็นได้ดังเดิม

 

รู้จักต้อเนื้อ

ต้อเนื้อ (Pterygium) คือ โรคที่เกิดจากความเสื่อมของเยื่อบุตาขาว จนทำให้เนื้อเยื่อบางส่วนพัฒนาอย่างผิดปกติ จนเกิดเป็นแผ่นพังผืดของเยื่อบุตา ลักษณะรูปสามเหลี่ยมปรากฏขึ้นบริเวณตาขาว และลุกลามเป็นยอดแหลมยื่นเข้าไปสู่ตาดำ จนบดบังการมองเห็น ตามัว และทำให้มีโอกาสสูญเสียการมองเห็นชั่วคราวในที่สุด  มักพบบริเวณหัวตามากกว่าหางตา

 

สาเหตุต้อเนื้อ

สาเหตุของต้อเนื้อที่พบได้บ่อยที่สุด คือ การโดนรังสี UV หรือแสงแดดเป็นเวลานาน และการที่ตาระคายเคืองจากลม ฝุ่นและอากาศแห้ง

 

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดต้อเนื้อ

  • การโดนแสงอาทิตย์ หรือ แสงอัลตราไวโอเลตเป็นเวลานานๆ ดวงตาสัมผัสกับฝุ่นควัน มลภาวะ ลมร้อน ลมแห้ง มากกว่าปกติ
  • ดวงตาแห้ง ระคายเคืองบ่อยอยู่ก่อนแล้ว ใช้สายตามากเกินไป เช่น ใช้คอมพิวเตอร์ หรือใช้โทรศัพท์เป็นเวลานาน
  • ดวงตาสัมผัสกับสารเคมีที่ทำให้เกิดการระคายเคืองเป็นเวลานาน
  • คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคต้อเนื้อ เป็นโรคเบาหวาน

 

อาการต้อเนื้ออาการส่วนใหญ่ที่พบ ได้แก่

  • มีก้อนเนื้อสีชมพูคล้ายสามเหลี่ยมงอกเข้าสู่ตาดำ
  • ตาแดง คันตา
  • ปวดตา ระคายเคืองตา น้ำตาไหล
  • ถ้าต้อเนื้อลามเข้ากระจกตามากอาจมีผลต่อสายตาทำให้เกิดสายตาเอียง บางครั้งอาจตาพร่าเพราะการกระจายของน้ำตาผิดปกติและมองไม่ชัดได้ ในกรณีต้อเนื้อลามมาคลุมส่วนกลางกระจกตาอาจทำให้การมองเห็นลดลง
  • อาจเกิดการดึงรั้งจนเห็นภาพซ้อน สายตาเอียง
  • รู้สึกเหมือนมีเม็ดทรายหรือกรวดในตา

 

ต้อเนื้อรักษาอย่างไร ?

ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก ต้อเนื้อยังไม่ลามเข้าไปในกระจกตาดำ สามารถให้การรักษาโดย

  • หลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคืองต่างๆ เพื่อชะลอไม่ให้ต้อเนื้อขยายเร็วขึ้น
  • ใช้น้ำตาเทียม หยอดป้องกันไม่ให้ตาแห้ง
  • ใช้ยาหยอดแก้แพ้ ยาหยอดที่ช่วยให้เส้นเลือดหดตัว โดยควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ยาหยอดตาเป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น ไม่สามารถทำให้ต้อเนื้อหายไปได้ หากต้อเนื้อมีอาการมากจนมีผลต่อการมองเห็นจึงพิจารณาผ่าตัดลอกต้อเนื้อ
  • ยาหยอดตาที่มีสเตียรอยด์หรือขี้ผึ้งป้ายตา เพื่อรักษาอาการตาแดง บวม คันและปวดตา

 

การผ่าตัดลอกต้อเนื้อมี 2 วิธี คือ

1. ผ่าตัดลอกต้อเนื้อแบบปกติ

การผ่าตัดลอกต้อเนื้อแบบปกติ จะเป็นการผ่าตัดเพื่อเอาต้อเนื้อที่เป็นเยื่อบุตาขาวส่วนที่ผิดปกติออกไปและไม่ได้มีการเย็บเยื่อบุตาขาวส่วนอื่นๆให้ติดกัน การผ่าตัดแบบนี้มีข้อดีคือสามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว และถึงแม้จะไม่มีการเย็บปิดแผล ร่างกายก็ยังคงสร้างเยื่อบุตาขาวขึ้นมาแทนส่วนที่ถูกตัดออกไปได้อยู่ดี ส่วนข้อเสียของวิธีการนี้คือมีโอกาสที่เนื้อเยื่อที่งอกขึ้นใหม่จะกลับมาเป็นต้อเนื้อซ้ำได้มากถึง 40 - 50% เลยทีเดียว

2. ผ่าตัดลอกต้อเนื้อพร้อมปลูกเนื้อเยื่อ

การผ่าตัดลอกต้อเนื้อพร้อมปลูกเนื้อเยื่อ เป็นการผ่าตัดเอาต้อเนื้อออก โดยแพทย์จะนำเยื่อบุตาขาวในส่วนอื่นๆมาเย็บปิดที่แผล หรือนำเนื้อเยื่อรกมาปลูกถ่ายลงไปแทนที่ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดซ้ำ และทำให้แผลจากการผ่าตัดหายได้เร็วขึ้น ข้อดีของการผ่าตัดพร้อมปลูกเนื้อเยื่อคือ ความเสี่ยงที่ต้อเนื้อจะเกิดซ้ำลดลงเหลือเพียง 5 - 10% เท่านั้น อีกทั้งแผลจากการผ่าตัดจะหายเร็วกว่า ส่วนข้อเสียคือหลังผ่าตัดผู้เข้ารับการรักษาจะรู้สึกระคายเคืองมากกว่าแบบแรก เนื่องจากไหมเย็บเยื่อบุตาขาวก่อให้เกิดความรู้สึกระคายเคืองได้มากนั่นเอง

 

วิธีปฏิบัติหลังผ่าตัดลอกต้อ

หลังผ่าตัดลอกต้อ แพทย์จะให้ปิดตาแน่นประมาณ 1 วัน เพื่อให้แผลที่กระจกตาสมานดี ถ้ามีอาการปวดตามากให้รับประทานยาแก้ปวด ควรหยอดตาตามแพทย์สั่ง และในกรณีที่ลอกต้อแบบปลูกเยื่อบุตาขาวหรือเยื่อหุ้มรกจะมีการเย็บแผล ก็จะต้องมาตัดไหมหลังผ่าตัดประมาณ 7 -10 วัน สำหรับโอกาสกลับเป็นซ้ำหลังลอกต้อออกไปแล้วก็ยังมีอยู่ แพทย์จะให้ยาหยอดตาเพื่อป้องกันการเป็นซ้ำ ส่วนใครที่ยังต้องวนๆ เวียนๆ อยู่กับปัจจัยที่เอื้อให้เกิด ก็ควรหาวิธีป้องกันด้วยการหลีกเลี่ยงจากปัจจัยเหล่านั้น ถ้าเลี่ยงไม่ได้ให้สวมแว่นตาป้องกัน ก็จะกันได้ทั้งลม แสงแดด และฝุ่นละออง ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกแว่นตาที่มีเลนส์ป้องกันรังสี UV จะดีที่สุด นอกจากนั้นแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีวิตามินเอสูงเช่น น้ำมันตับปลา, นมและผลิตภัณฑ์นม, ไข่แดง, ตับหมู, ผักใบเขียว และผลไม้ที่มีเนื้อสีเหลืองและสีส้มซึ่งจะมีสารเบต้าแคโรทีนที่ร่างกายนำไปสังเคราะห์เป็นวิตามินเอได้ เช่น มะม่วงสุก, มะละกอสุก, ส้มเขียวหวาน, แครอท, ฟักทอง เป็นต้น ซึ่งวิตามินเอจะช่วยกระตุ้นการทำงานของต่อมที่สร้างสารเมือกและไขมันมาเคลือบผิวกระจกตาและเยื่อบุตาขาว ช่วยเป็นเกราะป้องกันให้ดวงตาสามารถทนแดดทนลมได้ดีขึ้น

 

แนวทางป้องกันโรคต้อเนื้อ

  • หลีกเลี่ยงการเผชิญสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยของการเกิดต้อเนื้อ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง หากจำเป็นควรสวมแว่นกันแดดกันลม เพื่อป้องกันดวงตาให้ได้มากที่สุด
  • เลี่ยงมิให้โดนแดดจัดๆโดยเฉพาะเวลาตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึงบ่าย 3 โมงเย็น ซึ่งเป็นช่วงที่แสงแดดจัดมาก ฉะนั้นการใส่แว่นกันแดด สวมหมวก กางร่ม ในเวลาที่ออกกลางแจ้งจะช่วยได้มาก
  • หากตาล้าหรือตาแห้งระหว่างวัน ให้พักสายตาโดยการหลับตา หรือเปลี่ยนระยะการมองบ่อยๆ
  • หากระคายเคืองตาจากตาแห้ง ให้ใช้น้ำตาเทียมได้ ไม่ควรใช้น้ำตาเทียมที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์เพื่อป้องกันการเกิดต้อหิน
  • สังเกตดวงตาภายนอก และการมองเห็นของตนเองอยู่เสมอ หากพบสิ่งผิดปกติให้รีบเข้าพบจักษุแพทย์
  • หมั่นตรวจสายตา หรือตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจหาความผิดปกติได้ไวขึ้น
  • หากเกิดโรคต้อเนื้อขึ้นแล้วให้มาพบแพทย์ ไม่ควรรักษาด้วยการรักษาต้อเนื้อแบบโบราณ ห้ามนำสิ่งแปลกปลอม สมุนไพร หรือยาที่ใช้ในส่วนอื่นๆที่ไม่ใช่ดวงตามาหยอดตาโดยเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อจนสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้

โรคต้อเนื้อไม่ใช่โรคอันตราย สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการผ่าตัด ซึ่งเป็นเพียงการผ่าตัดเล็กๆที่ใช้เวลาเพียง 10 - 30 นาทีเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องพักฟื้นแต่อย่างใด

ดังนั้นหากรู้ตัวว่ากำลังเป็นโรคต้อเนื้อให้เข้ารับการรักษาที่ถูกวิธีจากแพทย์ ไม่ควรซื้อยาหรือนำสิ่งแปลกปลอมมาหยอดตาด้วยตัวเอง เนื่องจากอาจจะทำให้ติดเชื้อหรือกลายเป็นโรคต้อหินที่อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้

Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.