B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / รู้จักกับต้อกระจก
รู้จักกับต้อกระจก
24 เมษายน 2024

รู้จักกับต้อกระจก

ต้อกระจกเป็นภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเลนส์เสื่อมสภาพจนมีความขุ่นมัวเกิดขึ้น ทำให้แสงไม่สามารถส่งผ่านไปยังจอประสาทตาได้ไม่เต็มที่ ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจนหรือมีอาการสายตาพร่ามัว เหมือนมองผ่านกระจกฝ้า ภาวะต้อกระจก เป็นภาวะซึ่งเกิดจากความเสื่อมตามวัย จึงพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ

 

สาเหตุของโรค

ต้อกระจกเกิดจากความเสื่อมของโปรตีน ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเลนส์ตา ทำให้เลนส์ตาขุ่นและแข็งขึ้น มักพบมากในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป สาเหตุหลักคือ เป็นความเสื่อมตามวัย เมื่ออายุเพิ่มขึ้นความขุ่นของเลนส์จะเพิ่มขึ้น สาเหตุรองลงมา คือ การได้รับแสง UV จากแสงแดดจัดเข้าตาเป็นเวลานานๆ  อุบัติเหตุที่ดวงตา เช่น โดนกระแทก, ถูกของมีคม, โรคตาหรือโรคทางกาย เช่น การอักเสบในลูกตา, เบาหวาน การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานานๆ

 

อาการต้อกระจก

  • ตามัวเหมือนมีหมอกหรือฝ้าบัง
  • เมื่อต้อกระจกสุก อาจสังเกตเห็นเป็นสีขาวตรงรูม่านตา ซึ่งปกติเห็นเป็นสีดำ หากละเลยทิ้งไว้จนต้อกระจกสุกเกินไป อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น โรคต้อหิน การอักเสบภายในตา ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดตา ตาแดง และอาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้
  • ภาพซ้อน สายตาพร่า เกิดจากความขุ่นของเลนส์ไม่เท่ากัน การหักเหของแสงไปที่จอประสาทตาจึงไม่รวมเป็นจุดเดียว ในผู้ป่วยบางรายจะมีสายตาสั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ต้องเปลี่ยนแว่นตาบ่อย ๆ บางรายสายตาสั้นขึ้นจนกลับมาอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องใส่แว่น
  • การมองเห็นในตอนกลางคืนแย่ลง ต้องใช้แสงสว่างมากขึ้นในการอ่านหนังสือ หรือ การทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ต้องเพ่งสายตา
  • สู้แสงสว่างไม่ได้ มองเห็นแสงไฟกระจาย โดยเฉพาะขณะขับรถในตอนกลางคืน
  • มองเห็นสีต่าง ๆ ผิดเพี้ยนไปจากเดิม ต้องการแสงสว่างมากขึ้นในการมอง สายตาไวต่อแสงจ้า

 

การรักษาต้อกระจก

การใช้ยาหยอดตาอาจช่วยชะลอต้อกระจกในรายที่เป็นน้อยๆ แต่เมื่อแก้วตาขุ่นมากขึ้น การมองเห็นจะลดลงจนถึงขั้นเห็นแต่แสงลางๆ ได้ ซึ่งต้องรักษาด้วยการผ่าตัดต้อกระจกและใส่เลนส์แก้วตาเทียมเพื่อปรับสายตาให้เป็นปกติ

 

การผ่าตัดต้อกระจก

1) วิธีสลายต้อกระจกด้วยเครื่องอัลตราซาวด์สลายต้อ (Phacoemulsification With Intraocular Lens)

เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบัน แผลที่กระจกตาเล็กเพียง 2.75 มม. ใช้พลังงานความถี่สูงเท่าระดับอัลตราซาวนด์เข้าสลายต้อกระจกจนหมดจึงใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ แผลมีขนาดเล็กมาก ไม่ต้องเย็บแผลในคนไข้ส่วนใหญ่

2) วิธีผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง (Extracapsular Cataract Extraction with Intraocular Lens)

เป็นวิธีผ่าตัดดั้งเดิมที่ใช้ในกรณีที่ต้อกระจกสุกและแข็งมาก ๆ จนไม่เหมาะกับการสลายด้วยเครื่อง จักษุแพทย์จะเปิดแผลบริเวณครึ่งบนของลูกตายาวประมาณ 10 มม.เพื่อเอาตัวเลนส์แก้วตาที่เป็นต้อกระจกออก แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่แล้วจึงเย็บปิดแผลด้วยไหมเย็บแผล

 

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด

ในการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดต้อกระจกนั้น จักษุแพทย์จะตรวจความดันตาและจอประสาทตาอย่างละเอียด พร้อมกับตรวจหาโรคอื่น ๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคในระหว่างการผ่าตัด หรือหลังการผ่าตัด และเพื่อให้การผ่าตัดนั้นมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งก่อนการผ่าตัดนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการต้อกระจกควรเตรียมตัว ดังนี้

  • สำหรับการผ่าตัดต้อกระจกในผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยมีโรคประจำตัวนั้น หากมียาที่ทานเป็นประจำ ผู้ป่วยทานยาได้เป็นปกติจนถึงวันผ่าตัด ยกเว้นว่ายาที่ทานคือยาละลายลิ่มเลือด ผู้ป่วยที่รับประทานยาชนิดนี้ ควรงด 7 วันก่อนการผ่าตัด
  • งดรับประทานอาหารก่อนเข้ารับการผ่าตัด 12 ชั่วโมง ในกรณีที่มีการให้ยาสลบก่อนการผ่าตัด
  • งดแต่งหน้า พร้อมกับทำความสะอาดดวงตา และรอบดวงตาให้เรียบร้อย แต่สามารถล้างหน้าก่อนนอน และเช้าวันผ่าตัดได้
  • ดูแลความสะอาดร่างกายให้พร้อมสำหรับการผ่าตัด เช่น สระผม ตัดเล็บ โกนหนวด แปรงฟัน ทำความสะอาดปาก หรือการอาบน้ำ เป็นต้น

 

การดูแลตนเองหลังการผ่าตัดต้อกระจก

หลาย ๆ คนอาจมีข้อสงสัยว่าหลังจากผ่าตัดต้อกระจกต้องพักฟื้นกี่วัน หรือหลังผ่าตัดแล้ว สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้หรือไม่ ซึ่งการผ่าตัดต้อกระจกนั้นใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ แต่อาจจะต้องระมัดระวังพฤติกรรมของผู้ป่วยเอง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยวิธีการดูแลตัวเองหลังการผ่าตัดต้อกระจกแบบง่าย ๆ มีดังนี้

  • หยอดตาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังการเช็ดทำความสะอาดตา และหยอดตา
  • เช็ดทำความสะอาดรอบดวงตา และใบหน้าให้สะอาด เพื่อป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่แผลผ่าตัด
  • ผู้ป่วยห้ามขยี้ตา เพราะอาจทำให้แผลเกิดการฉีกขาด หรือเลือดออกได้
  • ระวังไม่ให้น้ำเข้าตาในขณะที่อาบน้ำ หรือสระผม
  • หลีกเลี่ยงการไอ หรือจามแรง ๆ และไม่ก้มศีรษะต่ำกว่าระดับเอว

​​​​​​​

วิธีป้องกันโรคต้อกระจก

อย่างที่ทราบกันว่าโรคต้อกระจกยังไม่มียารักษา ทางรักษาเดียวคือการผ่าตัดเท่านั้น หากไม่อยากผ่าตัด ก็ควรป้องกันไม่ให้เกิดต้อกระจกด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้

  • ระวังไม่ใช้สายตามากเกินไป ถนอมสายตาด้วยการพักสายตาบ้างหลังใช้งานติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • ไม่มองแสงจ้าเป็นเวลานาน หากต้องอยู่ในที่แสงจ้า ควรใส่แว่นกันแดดหรือหมวกปีกกว้าง ถ้าทำงานที่ต้องจ้องแสง ควรมีเครื่องมือป้องกันดวงตาจากแสงด้วย
  • ไม่ควรซื้อยาหยอดตามาใช้เอง ระวังการใช้ยาโดยเฉพาะกลุ่มสเตียรอยด์ ไม่ใช้ยาตัวใดตัวหนึ่งติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น แต่ก็ต้องปรึกษาแพทย์ด้วย เพราะยาบางตัวจำเป็นต้องใช้ในระยะยาว
  • ไม่ทำให้ตนเองเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุที่จะกระทบกับดวงตา
  • หมั่นตรวจสายตา หรือตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.